ไข้ซิกา (Zika fever) เกิดจากเชื้อไวรัสซิกา (Zika virus) อยู่ในตระกูลฟลาวิไวรัสเช่นเดียวกับไวรัสไข้เลือดออก ไวรัสไข้สมองอักเสบ และไวรัสเวสต์ไนล์ จึงมีสารพันธุกรรมเป็นชนิดอาร์เอนเอสายเดียว ยุงลายเป็นพาหะสำคัญของโรค สามารถแยกเชื้อไวรัสซิกาได้จากลิงและจากคน มีรายงานว่าไวรัสซิกาสามารถติดต่อได้จากการรับเลือดและติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พบว่ามีการระบาดในแถบทวีปอัฟริกา มีรายงานว่าพบในเอเชียใต้ (อินเดีย) และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาตั้งแต่ปี 2520
อาการ ไข้ซิกามีระยะฟักตัว 2-7 วัน มีอาการไข้ ปวดศีรษะ ออกผื่นที่ลำตัว และแขนขา ปวดข้อ ปวดในกระบอกตาเยื่อบุตาอักเสบ โรคไข้ซิกามักมีอาการไม่รุนแรง อาจวินิจฉัยผิดว่าเป็นไข้เลือดออกเนื่องจากมีอาการทั่วไปคล้ายๆกัน หายได้ในเวลาไม่กี่วัน แต่หากมีการติดเชื้อในหญิงขณะตั้งครรภ์ทารกที่คลอดออกมาจะมีศีรษะเล็กผิดปกติ
การตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการทำได้โดยการตรวจหาแอนติบอดี IgM และ IgG ต่อไวรัสซิกา สำหรับการตรวจหา IgM สามารถตรวจพบได้ภายใน 3 วันนับแต่แสดงอาการ ผลการตรวจทางภูมิคุ้มกันวิทยาอาจมีปฏิกิริยาข้ามกลุ่มให้ผลบวกลงได้หากผู้ป่วยมีการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มฟลาวิไวรัสมาก่อน อาจต้องมีการตรวจยืนยันผล วิธีการตรวจดีเอ็นเอ (แปลงอาร์เอนเอเป็นดีเอ็นเอแล้วขยายเพิ่มจำนวนชุดยีนด้วยเทคนิคพีซีอาร์) สามารถตรวจได้จากน้ำเหลือง เนื่องจากระยะเวลาที่ตรวจพบไวรัสในกระแสเลือดมีเวลาสั้นๆ การตรวจพีซีอาร์จะมีประสิทธิภาพหากตรวจหลังจากที่เริ่มแสดงอาการ 1-3 วัน อาจตรวจได้น้ำลายและปัสสาวะ
การรักษา ยังไม่ยารักษาโรคไข้ซิกาโดยตรง นอกจากการรักษาประคองไปตามอาการ
การป้องกัน ป้องกันยุงกัดและทำลายแหล่งเพาะพันธ์ยุง ยุงลายที่เป็นพาหะมักออกหากินเวลากลางวัน
การแพร่ระบาดจนปัจจุบัน อยู่ในกลุ่มประเทศละตินอเมริกา, อเมริกาใต้, อัฟริกาตะวันตก อินโดนีเซีย อินเดีย เกือบทั้งหมดอยู่ใต้แนวเส้นศูนย์สูตร ประเทศไทยอยู่ในข่ายเฝ้าระวัง
เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 องค์การอนามัยโลกประกาศให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสซิกาเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ เนื่องจากสามารถแพร่ระบาดได้รวดเร็วมาก และส่งผลกระทบในหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อไข้ซิกาที่พบทารกที่คลอดออกมามีศีรษะเล็กผิดปกติ (microcephaly) มีกล้ามเนื้ออ่อนแรงถึงอัมพาตได้ มีการคาดคะเนว่าในสหรัฐอเมริกาอาจมีผู้ติดเชื้อสูงถึง 3-4 ล้านรายภายใน 12 เดือนข้างหน้า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขไทยได้ประกาศให้โรคไข้ซิกาเป็นโรคติดต่อ หากตรวจพบผู้ป่วยต้องแจ้งเจ้าหน้าที่
เอกสารอ้างอิง: http://www.wpro.who.int/mediacentre/factsheets/fs_05182015_zika/en/