จาก 3 ประสานของ 2 หน่วยงานรัฐ คือ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับ ภาคเอกชน คือ บริษัท แปซิฟิค ไบโอเทค จำกัด ได้พัฒนาชุดตรวจเชื้อเอดส์ดื้อยา และทดสอบคุณภาพเป็นผลสำเร็จแล้ว ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV ทั้งในและต่างประเทศสามารถเข้าถึงการตรวจเชื้อดื้อยาที่มีคุณภาพและมีราคาถูกได้ครอบคลุมมากขึ้น นอกจากนี้เพื่อเป็นการลดการนำเข้าและนำไปสู่การส่งออกในอนาคตต่อไป

การพัฒนาชุดตรวจเชื้อเอดส์ดื้อยา ชื่อ PolGene® HIV Drug resistance genotypic assay
การพัฒนาการตรวจหาเชื้อเอชไอวีดื้อยาของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2537 โดยทีมวิจัยที่ประกอบด้วย ดร.สุณี ศิริวิชยกุล ศาสตราจารย์นายแพทย์ประพันธ์ ภานุภาค และศาสตราจารย์นายแพทย์เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ทั้งนี้ ดร.สุณี ศิริวิชยกุล ได้ผ่านการฝึกอบรมที่สหรัฐอเมริกาโดยมี Professor Scott Hammer แห่ง Harvard Medical School เป็นครูพี่เลี้ยง ซึ่งการตรวจหาเชื้อ HIV ที่ดื้อยาในสมัยนั้น ต้องเพาะเชื้อจากผู้ติดเชื้อแล้วใส่ยาต้านไวรัสลงไปเพื่อประเมินผลว่ายานั้นๆสามารถควบคุมการแบ่งตัวของเชื้อได้มากหรือน้อยเพียงใด การทดสอบวิธีนี้เรียกว่า Phenotypic assay แต่เนื่องจากการเพาะเชื้อ HIV จากเลือดของผู้ป่วยมีขบวนการที่ยุ่งยาก ต้องใช้เวลาเป็นเดือน ค่าใช้จ่ายสูง จึงไม่เป็นที่นิยมกัน

ในระยะเวลาใกล้เคียงกันนั้น มีการสะสมความรู้กลไกการดื้อยาและการกลายพันธุ์ของเชื้อ HIV อย่างเป็นระบบ จึงมีการพัฒนาชุดตรวจและวิธีหาเชื้อดื้อยาโดยการตรวจสายพันธุกรรมที่กลายพันธุ์ไปออกมาจำหน่าย เรียกชื่อวิธีนี้ว่า Genotypic assay

ในปี 2539 มีการก่อตั้งศูนย์ความร่วมมือวิจัยด้านโรคเอดส์ระหว่าง 3 ประเทศ คือ เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลียและ ไทย หรือ The HIV Netherlands Australia and Thailand Research Collaboration (HIV-NAT) ขึ้นที่ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย โดยศาสตราจารย์นายแพทย์ประพันธ์ ภานุภาคร่วมกับ 2 ศาสตราจารย์จากต่างประเทศ คือ Professor David Cooper และ Professor Joep Lange เพื่อทำการศึกษาวิจัยยาต้านไวรัสเอดส์ที่เหมาะสำหรับคนไทย แต่ชุดตรวจเชื้อดื้อยาที่นำเข้ามีราคาแพง จึงได้สนับสนุน ดร.สุณี ศิริวิชยกุล ให้ศึกษาและพัฒนาวิธีการตรวจหาเชื้อดื้อยาโดยวิธี in house Genotypic assay ขึ้นมาใช้ในห้องปฏิบัติการที่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อการวิจัย พร้อมกับการประกันคุณภาพกับเครือข่ายนานาชาติด้านประกันคุณภาพการตรวจเชื้อเอดส์ดื้อยา และมีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำของโลกด้านโรคเอดส์อย่างต่อเนื่อง 

เนื่องจากมีวิธีตรวจที่พัฒนาขึ้นนี้มีราคาถูกกว่าชุดทดสอบสำเร็จรูปที่นำเข้า ประมาณครึ่งหนึ่ง (ราคาประมาณ 10,000 บาทในขณะนั้น) เพื่อให้ผู้ติดเชื้อไทยสมารถเข้าถึงการตรวจนี้ ทาง ศ. นพ. ประพันธ์ ภานุภาค จึงได้นำมาเปิดให้บริการที่คลีนิคนิรนาม สภากาชาดไทยตั้งแต่ปี 2545 นอกจากนี้ยังได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่หน่ายงานทั้งไทยและต่างประเทศ เช่น คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ University of Malaya Medical Centre เป็นต้น 

อย่างไรก็ตามปัญหาการระบาดของโรคเอดส์ยังคงเป็นปัญหาของประเทศ และของทั่วโลก ในประเทศไทย ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อที่กำลังรักษาด้วยยาต้านไวรัสอยู่อย่างน้อย 200,000 ราย ทั่วโลกมีอยู่ประมาณเกือบ 10 ล้านคน และจากการประกาศของ WHO ในปี้นี้ได้แนะนำให้เริ่มรักษาเร็วขึ้นคือ ที่ CD4 ต่ำกว่า 500 คาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อที่ต้องรับประทานยาเพิ่มขึ้นรวมเป็นประมาณ 25 ล้านคน ทั้งนี้โดยทั่วไปจะมีอัตราการดื้อยาที่ประมาณ 15-25% แล้วแต่กลุ่มประชากร ดังนั้นจะเห็นว่าความจำเป็นต้องมีชุดตรวจที่มีคุณภาพแต่ราคาถูกให้มีใช้และเข้าถึงในหลายๆประเทศทั่วโลก จึงเป็นแรงบันดาลใจและเป็นจุดเริ่มต้นให้ศาสตราจารย์นายแพทย์เกียรติ และคณะจับมือกันอย่างจริงจัง กับภาคเอกชน คือ บริษัท แปซิฟิค ไบโอเทค จำกัด ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคอุตสาหกรรม และร่วมมือกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกและมาตรฐานสากล ISO 15189 สำหรับห้องปฏิบัติการและ ISO17043 สำหรับการประเมินคุณภาพห้องปฏิบัติการตรวจเชื้อเอชไอวีดื้อยาต้านไวรัสแห่งชาติ มีส่วนร่วมในการทดสอบ และประเมินผลทั้งหมดของชุดน้ำยานี้ ชุดตรวจนี้ ใช้ชื่อว่า PolGene® บัดนี้ได้ทำสำเร็จแล้ว ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณแหล่งทุนสนับสนุนต่างๆที่สนับสนุนโครงการนี้ ได้แก่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. ทุนเมธีวิจัยอาวุโส (สำหรับ ศ. นพ. เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม) สกว. ทุนมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ สกอ. และทุนงบประมาณแผ่นดิน วช. 

บริษัท แปซิฟิค ไบโอเทค จำกัด กับแผนการจัดจำหน่ายในอนาคต
ด้านคุณทศพล พิชญโยธิน ในฐานะผู้บริหารบริษัท แปซิฟิค ไบโอเทค จำกัด กล่าวว่าในส่วนการได้รับสนับสนุนเพื่อพัฒนางานวิจัยสู่การผลิต จัดจำหน่ายและด้านการตลาด บริษัท แปซิฟิค ไบโอเทค จำกัด เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตและจำหน่ายชุดตรวจวินัจฉัยโรคชนิดเร็ว (Diagnostic Rapid Test Kit) ซึ่งมีทั้งแบบนำเข้าและรับจ้างผลิต มาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี บริษัท แปซิฟิค ไบโอเทค จำกัด เป็นหนึ่งในบริษัทที่อยู่ในกลุ่มบริษัท BRIA โดยได้แตกไลน์ออกมาจาก บริษัท กรุงเทพอาร์ไอเอแล็บ จำกัด ซึ่งเป็นแล็บเอกชนแห่งแรกในประเทศไทย ในการให้บริการการตรวจวินิจฉัยโรค และตลอด 30 ปีของกลุ่มบริษัท BRIA ได้มีส่วนร่วมในโครงการพัฒนางานวิจัยของทางภาครัฐหลายโครงการ สำหรับโครงการชุดทดสอบการดื้อยาในผู้ป่วยโรคเอดส์ เป็นหนึ่งในโครงการที่ทางบริษัทได้มีการพัฒนาต่อยอดงานวิจัย และได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากภาครัฐ โดยสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนโครงการ แปลงเทคโนโลยีเป็นทุน จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ในปี 2554 เพื่อพัฒนากระบวนการผลิตตามแนวคิดนวัตกรรม รวมถึงการพัฒนาและทดสอบประสิทธิภาพของชุดตรวจ โดยได้รับความร่วมมือในการทดสอบประสิทธิภาพของชุดตรวจจากห้องปฎิบัติการ 3 แห่ง ภายใต้การดูแลของ ดร. สุณี ศิริวิชยกุล ในส่วนของห้องปฎิบัติการ VCI ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร. สิริพรรณ แสงอรุณ ในส่วนของห้องปฏิบัติการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และดร. เสาวลักษณ์ ด่านสกุล ในส่วนของห้องปฏิบัติการอณูชีววิทยา บริษัทกรุงเทพ อาร์ไอเอแล็บ จำกัด บัดนี้ขั้นตอนการทำการทดสอบประสิทธิภาพจากห้องปฏิบัติการทั้ง 3 แห่ง ได้เสร็จสิ้นลง และทางบริษัทได้มีการวางแผนการจัดจำหน่ายชุดทดสอบดังกล่าวต่อไป

ความรู้ทางด้านอณูชีววิทยา (Molecular genetics & Molecular biology) ถูกนำมาประยุกต์ใช้ทางด้านการแพทย์มากขึ้น เพื่อหาคำตอบ หรือตอบคำถามทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการป้องกัน การตรวจวินิจฉัยโรค ตลอดถึงการรักษาโรค ทางบริษัทฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว และถึงแม้ว่าราคาน้ำยาและสารเคมีที่ใช้ต่างๆในการให้บริการในการตรวจวินิจฉัย โดยใช้เทคนิคทางด้าน Polymerase Chain Reaction หรือ PCR เมื่อเปรียบเทียบกับหลายปีที่ผ่านมาได้มีการปรับลดลงมาพอสมควร เนื่องจากมีการแข่งขันของภาคธุรกิจกันมากขึ้น ควบคู่กับความรู้ทางด้านอณูชีววิทยา ได้มีการพัฒนาและมีการศึกษามากขึ้น เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ อย่างไรก็ตามสำหรับการตรวจการดื้อยาของเชื้อ HIV-1 ยังคงมีราคาสูงมาก ทำให้ผู้ป่วยบางกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงการตรวจวินิจฉัยได้ การร่วมมือกับภาครัฐในการพัฒนาชุดตรวจในครั้งนี้เพื่อจุดประสงค์ มุ่งเน้นการลดต้นทุนการตรวจ เพื่อให้ผู้ป่วยทุกระดับชั้น สามารถเข้าถึงการตรวจได้ อย่างไรก็ตามในด้านการตลาดทางบริษัทฯ ก็ยังคงหวังให้ทางภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ให้การสนับสนุนเพื่อการร่วมผลักดันปรับเปลี่ยนจากวิธีการตรวจวินิจฉัยที่ต้องใช้ commercial kit ที่อาศัยน้ำยาตรวจวิเคราะห์จากต่างประเทศซึ่งมีราคาสูง มา เป็นการตรวจแบบ In house ที่ได้รับการทดสอบประสิทธิภาพและประสิทธิผลเทียบเท่า เพื่อใช้ในการตรวจการดื้อยาของเชื้อ HIV-1 ได้แพร่หลายมากขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ทางบริษัทจะมุ่งมั่นร่วมกับนักวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งห้องปฏิบัติการอื่นๆในการพัฒนาชุดตรวจอื่นๆอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เพียงเพื่อลดการนำเข้า แต่เพื่อมุ่งหวังส่งออกต่อไปในอนาคตด้วย
การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ การตรวจเชื้อ HIV ดื้อยาโดยวิธี Genotypic assay

การอบรมครั้งนี้เป็นการแนะนำชุดตรวจนี้กับศูนย์บริการตรวจห้องปฏิบัติการประมาณ 30 แห่งทั่วประเทศ เพื่อนำไปใช้จริงและให้การประเมินเพื่อปรับปรุงต่อยอด สำหรับการขึ้นทะเบียนชุดตรวจสำหรับจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศต่อไปในเร็วๆนี้ โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในการจัดเตรียมสถานที่และเครืองมือวิทยาศาสตร์เพื่อใช้ในการจัดอบรม

ภาพบรรยากาศการอบรม

HIV Drug Resistance Research staff

Workshop Brief

HIV Drug Resistance to Polgene Kit by Prof. Kiat

Polgene Kit

Workshop Started

Polgene Kit usage in laboratory

Workshop summary

How to : HIV DR Interpretation

HIV DR reporting sample

Drug Resistance Q&A